หากคุณเป็นคนหนึ่งในองค์กรที่ได้รับมอบหมายหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับการสร้างนวัตกรรมขององค์กร หรือต้องการความสร้างสรรค์เพื่อคิดหาไอเดียใหม่ ๆ ให้องค์กรตลอดเวลา คุณต้องรู้จักกับเครื่องมือนี้ Design Thinking และคอร์สออนไลน์นี้จะพาคุณไปรู้จักแบบรวดเร็วและง่ายที่สุด
ในตอนเริ่มต้นคอร์ส “อาจารย์จี้” ผู้สอนจาก MindDojo จะเริ่มแนะนำให้เรารู้จักกับ Design Thinking ว่ามันคือ
“กระบวนการที่ช่วยให้การออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการมีความแปลกใหม่แล้วตรงกับใจของลูกค้า”
แล้วต่อด้วยการแนะนำกระบวนการทั้ง 5 ขั้นตอน ที่ประกอบด้วย
- Empathize
- Define
- Ideation
- Prototype
- Test
โดยกระบวนการขั้นตอนที่ 1–3 คือการตรวจสอบปัญหา และขั้นตอนที่ 4–5 คือการตรวจสอบวิธีการแก้ปัญหา โดยทุกกระบวนการจะมีเป้าหมาย…
“เพื่อช่วยให้เราไม่คิดไปเอง”
Empathize
ผู้สอนจะเริ่มต้นด้วยการแนะนำให้เรารู้จักความต้องการของผู้ใช้ทั้ง 3 ระดับ ที่ประกอบไปด้วย
Primary needs — ความต้องการหลักของลูกค้า
Secondary needs — ความต้องการที่เป็นรายละเอียด ของความต้องการหลัก
Latent needs — ความต้องการแอบแฝง ที่ยังไม่ได้รับการตอบสนอง
พร้อมทั้งแนะนำเครื่องมือที่ช่วยให้สามารถเข้าถึงความต้องการเหล่านั้นได้ทั้ง การเข้าไปคลุกคลี การสังเกต และการสัมภาษณ์ ทำให้เราสามารถเข้าใจพฤติกรรมของลูกค้าอย่างลึกซึ้งได้
Define
เมื่อเข้าใจลูกค้ามากขึ้นเราจะเห็นปัญหาที่มีอยู่มากมายของลูกค้า
“แล้วจะเลือกได้อย่างไรเพราะเราคงไม่สามารถแก้ปัญหาทั้งหมดได้หรอก”
ผู้สอนจะแนะนำให้เรารู้จักเครื่องมือสองตัว นั้นคือ
- Job-to-be-done
- Empathy map
ที่จะช่วยให้เราวิเคราะห์และคัดเลือกปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
Ideation
เมื่อเลือกปัญหาได้แล้ว ในขั้นตอนต่อมาผู้สอนจะแนะนำถึงเทคนิคในการสร้างไอเดียให้สดใหม่และน่าสนใจ ซึ่งเป็นขั้นตอนที่สนุกที่สุด (ความเห็นส่วนตัวผู้รีวิว) ซึ่งได้แก่
เน้นการสร้างไอเดียที่ปริมาณมากกว่าคุณภาพ โดยต้องหลีกเลี่ยงการที่จะเข้าไปตัดสินไอเดียของผู้อื่น ปล่อยให้ทุกคนคิดนอกกรอบหรือมองหาทิศทางใหม่ ๆ โดยอาจใช้การเพิ่มหรือลดบางสิ่งในสิ่งที่เราคุ้นเคย เช่นการแบ่งแยกบางสิ่งที่เคยอยู่ร่วมกันให้ออกจากกัน หรือรวมบางสิ่งที่แตกต่างกันเข้าไว้ด้วยกัน
Prototype
เมื่อได้ไอเดียสร้างสรรค์มาแล้ว ในขั้นนี้ผู้สอนจะแนะนำถึงแนวทางในการสร้าง Prototype — ต้นแบบ เพื่อไปทดสอบในขั้นสุดท้าย โดยมีสิ่งสำคัญที่ต้องยึดถือก็คือ
- ตัวต้นแบบต้องสามารถเก็บ Feedback ได้อย่างรวดเร็ว
- ทุกคนต้องไม่กลัวความผิดพลาดที่จะเกิดขึ้น
- ต้องพร้อมต่อการปรับปรุงแก้ไขอย่างรวดเร็ว
ซึ่งโดยรวมแล้วสิ่งสำคัญคือ ต้นแบบนั้นจะต้องสามารถใช้สื่อสารกันภายในทีมได้ และสามารถทดสอบสิ่งที่ต้องการจะรู้ได้ ถึงจะเป้นต้นแบบที่ดี
Test
ท้ายที่สุดคือขั้นตอนที่ไม่สามารถละเลยได้นั้นคือการทดสอบ ซึ่งผู้สอนได้ย้ำถึงการวัดผลได้ 3 อย่างที่จะต้องเกิดขึ้น นั้นคือ
- ทำได้จริงหรือไม่
- ลูกค้าอยากได้จริงหรือไม่
- และจะสร้างกำไรได้มากพอหรือไม่ (ทางธุรกิจ)
เป็นผลลัพธ์ที่ต้องรู้ให้ได้ในท้ายที่สุด
ในตอนสรุปส่งท้าย อาจารย์จี้ผู้สอนได้ให้มุมมองที่น่าสนใจว่า ทั้ง 5 ขั้นตอนของ Design Thinking ไม่ใช่ขั้นตอนที่ต้องเรียงกัน 1- 5 เพราะเราสามารถเริ่มที่ขั้นตอนไหนก็ได้ หรือทำขั้นตอนหนึ่งแล้วประสบปัญหาที่น่าสนใจจะย้อนกลับไปทำขั้นตอนก่อนหน้าก็สามารถทำได้ หรือแม้แต่จะข้ามขั้นตอนบางอย่างไปเลยก็ทำได้เช่นกัน เพราะเป้าหมายคือ…
การสร้างผลิตภัณฑ์หรือบริการที่มีความแปลกใหม่ตรงกับใจลูกค้า